สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

การด่าบุพการีของคู่สมรสว่า อีแก่ เป็นเหตุฟ้องหย่าได้หรือไม่

การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหย่าได้นั้น จะต้องเหตุที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นเหตุร้ายแรงที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ ซึ่งเหตุดังกล่าวจะระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 โดยการเหยียดหยามบุพการีอย่างร้ายแรงเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) แต่ต้องพิเคราะห์คำด่านั้นๆ ว่า เป็นเหยียดหยามหรือไม่
ค่าว่า อีแก่ ศาลฎีกาได้ตัดสินเอาไว้ว่าไม่เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516(3) โจทก์จึงไม่อาจอ้างคำด่าดังกล่าวฟ้องหย่าจำเลยได้
คดีตัวอย่าง
จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน เป็นเพียงคำไม่เหมาะสมที่ภริยาจะใช้เรียกสามีต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยจะต้องปรับปรุงตนไม่ใช้คำดังกล่าวกับสามีอีกต่อไป ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ส่วนที่จำเลยเรียกมารดาโจทก์ว่าอีแก่นั้น คำว่า "อี" เป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือเป็นคำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม สำหรับคำว่า "แก่" มีความหมายว่ามีอายุมาก คำว่า "อีแก่" จึงเป็นคำไม่สุภาพและไม่เหมาะสมที่จำเลยในฐานะบุตรสะใภ้จะใช้เรียกมารดาของสามี แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง ยังไม่พอฟังว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3 )

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4402/2558
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน จำเลยเคยร้องเรียนโจทก์เรื่องที่โจทก์มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ จนกระทั่งผู้บังคับบัญชาเรียกโจทก์มาว่ากล่าวตักเตือนและได้ภาคทัณฑ์ไว้ตามบันทึก ก่อนหน้านั้นจำเลยเคยถูกนางอลิตภรณ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท โจทก์ช่วยไกล่เกลี่ยจนนางอลิตภรณ์ยอมถอนคำร้องทุกข์ ปลายปี 2555 โจทก์ย้ายออกจากบ้านที่อยู่ร่วมกับจำเลยไปอยู่กับมารดาโจทก์จนปัจจุบัน วันที่ 18 มกราคม 2556 โจทก์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จำเลยมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้นและเกิดมีปากเสียงกับมารดาโจทก์

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน และเรียกมารดาโจทก์ว่า อีแก่ อันเป็นเหตุหย่านั้น เห็นว่า แม้สามีภริยาต้องรู้จักการให้เกียรติอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นเสน่ห์และหลักการสำคัญในการครองคู่ให้มีชีวิตชีวาก็ตาม แต่ชีวิตคู่ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องความรักและความหึงหวง ปุถุชนไม่ว่าหญิงหรือชายย่อมมีความอดทนและอดกลั้นในขีดจำกัด ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานบุคคลของโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเครือญาติและบุคคลภายในครอบครัวเดียวกันว่า มูลเหตุที่จำเลยใช้ถ้อยคำดังกล่าวเกิดจากอารมณ์หึงหวงของจำเลยที่ระแวงว่าสามีจะปันใจไปมีหญิงอื่นจึงได้ใช้ถ้อยคำดังกล่าวกับโจทก์และมารดาโจทก์ คำว่าบักคือคำที่เป็นภาษาเฉพาะถิ่น ใช้เป็นคำเรียกชายที่เสมอหรือต่ำกว่า ตรงกับคำว่าอ้ายซึ่งเป็นคำประกอบคำอื่นบอกให้รู้ว่าเป็นเพศชายหรือสัตว์ตัวผู้ มีทั้งใช้ในเชิงบวกเป็นคำประกอบหน้าชื่อเพื่อนฝูงแสดงว่ามีความสนิทสนมกันมาก หรือใช้ในเชิงลบเป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้ชายแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตั้งแต่ปี 2533 ตามใบสำคัญการสมรส อยู่กินด้วยกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จนมีบุตรสาวอันเป็นพยานรักถึงสองคน ย่อมแสดงว่าจำเลยปรนนิบัติสามีและดูแลครอบครัวเป็นอย่างดีมาโดยตลอด จำเลยเพิ่งจะมาเรียกโจทก์ด้วยถ้อยคำดังกล่าวในภายหลังเนื่องจากระแวงว่าโจทก์จะไปมีหญิงอื่น เมื่อโจทก์

ประสบอุบัติเหตุจำเลยซึ่งประกอบอาชีพพยาบาลยังได้มาเฝ้าไข้และเป็นธุระเปลี่ยนจากห้องผู้ป่วยรวมเป็นห้องผู้ป่วยพิเศษ อีกทั้งในระหว่างที่โจทก์พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของโจทก์ในวันที่ 21 มกราคม 2556 จำเลยยังเอาใจใส่จัดงานวันเกิดให้โจทก์โดยให้เพื่อนร่วมงานของจำเลยมอบเค้กวันเกิดให้แก่โจทก์ ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยเหมือนหญิงมีสามีทั่วไปที่ยังรักยังหวงและห่วงใยสามีของตน อยากให้สามีกลับมาเป็นเสาหลักและให้ความอบอุ่นเช่นเดิม ที่จำเลยเรียกโจทก์ว่า บักหลอย บักหน้าส้นตีน เป็นเพียงคำไม่เหมาะสมที่ภริยาจะใช้เรียกสามีต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งเป็นข้อที่จำเลยจะต้องปรับปรุงตนไม่ใช้คำดังกล่าวกับสามีอีกต่อไป ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามโจทก์อย่างร้ายแรง ส่วนที่จำเลยเรียกมารดาโจทก์ว่าอีแก่นั้น คำว่า "อี" เป็นคำประกอบหน้าชื่อผู้หญิงที่มีฐานะต่ำกว่า หรือเป็นคำใช้ประกอบหน้าชื่อผู้หญิงแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยาม สำหรับคำว่า "แก่" มีความหมายว่ามีอายุมาก คำว่า "อีแก่" จึงเป็นคำไม่สุภาพและไม่เหมาะสมที่จำเลยในฐานะบุตรสะใภ้จะใช้เรียกมารดาของสามี แต่ยังไม่ถึงกับเป็นคำที่เหยียดหยามมารดาโจทก์อย่างร้ายแรง ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยข้างต้นยังไม่พอฟังว่า จำเลยเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร